หอย...ดอง

หอย...ดอง
ฮืม........

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร

คุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดคุณธรรมของผู้บริหารไว้ตามมาตรฐานที่ ๑๙ ผู้บริหารมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี
มีตัวบ่งชี้ ๓ ข้อ
๑. ผู้บริหารอุทิศตนให้กับการปฏิบัติงานในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
๒. ผู้บริหารมีความเมตตา กรุณา มีความรับผิดชอบ ยุติธรรม ซื่อสัตย์
๓. ผู้บริหารมีการครองตนที่ดี ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข สิ่งเสพย์ติด
วิไลวรรณ ลายถมยา (อ้างถึงชาติชาย อุทัยพันธ์ ) ได้กล่าวว่า นักบริหารหรือผู้นำที่มีคุณธรรมนั้น ควรมีลักษณะที่สำคัญยิ่ง ๓ ประการ ดังนี้ ๑. มีความรู้และเป็นผู้มองการณ์ไกล สามารถวางแผนงานให้เหมาะ รู้จักงาน รู้จักตนเอง และผู้อื่น ใช้ได้กับบุคคลต่าง ๆ ในทุกสถานภาพ ผู้บริหารระดับสูงต้องมีสติปัญญา ๒. มีความเชี่ยวชาญ แม่นยำ มั่นคงต่องานที่ตนบริหารอยู่ ๓. มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถผูกใจคนได้ทั้งผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ การมีมนุษย์สัมพันธ์นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความจริงใจให้เกียรติทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผู้บริหารที่มีความพร้อมในด้านนี้ จะสามารถบริหารกิจการได้อย่างราบรื่น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย นับว่าคุณธรรมข้อนี้สำคัญมาก จะต้องอยู่ในตัวผู้นำทุกระดับไม่ว่าระดับสูง กลาง หรือระดับพื้นฐาน
วิจิตร ศรีสะอ้าน (๒๕๓๒ : ๓๘) ได้เสนอหลักคุณธรรมในการบริหารไว้ ๓ ประการ คือ
๑. การรู้จักตน ผู้บริหารต้องรู้จักตนเอง มีความมั่นใจและมั่นคงในอารมณ์ ซึ่งตรงกับคุณธรรมการครองงาน ซึ่งผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเองว่ามีฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร รู้จักวิธีการครองตนให้เป็นคนดี น่าเคารพนับถือ น่าคบหาสมาคมและน่าไว้วางใจจากผู้อื่น
๒. การเข้าใจคน ผู้บริหารต้องพยายามเข้าใจคนอื่นเกี่ยวกับพื้นฐานของคน และธรรมชาติของคนว่า มีความต้องการ ความแตกต่างในด้านต่างๆ อย่างไร ซึ่งได้แก่คุณธรรมการครองคน คือการรู้และเข้าใจบุคลากรเกี่ยวกับ ฐานะ ตำแหน่ง บทบาท หน้าที่ ความรู้ความสามารถ ความประพฤติ นิสัยใจคอ ความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคลในองค์กร เพื่อให้ผู้บริหารปฏิบัติต่อบุคลากรได้เหมาะสมนั่นเอง
๓. การปรับตน เมื่อผู้บริหารเข้าใจตนเองและผู้อื่นแล้ว ก็ปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าใจผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่น การปฏิบัติตนต่อผู้อื่นให้เขามีความสุข แสดงออกทั้งทางกาย วาจา และใจ ปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจคนและมุ่งผลของงานด้วย ซึ่งเรียกว่า คุณธรรมการครองงาน
ทองอินทร์ วงศ์โสธร (๒๕๓๘ : ๕) ได้กล่าวว่า คุณธรรมสำหรับผู้บริหารตามหลักศาสนา คือ พรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถุ ๔ ฆราวาสธรรม ๔ และทศพิธราชธรรม
ยุภา อดิเรก (๒๕๕๐) ได้กล่าวว่า การบริหารจัดการในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ได้แก่ สังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกัน ประสานองค์กรให้มีความสุข ประกอบด้วย
๑. ทาน คือการให้ การอนุเคราะห์หรือสงเคราะห์ การช่วยเหลือกันในโอกาสอันสมควร
๒. ปิยวาจา คือ การกล่าวถ้อยคำที่เป็นที่รัก มีประโยชน์ ถูกต้องดีงามและจริงใจต่อผู้ร่วมงาน
๓. อัตถจริยา คือความประพฤติที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
๔. สมานัตตตา คือ ความเป็นผู้วางตนเสมอต้นเสมอปลายต่อคนอื่นอย่างเสมอภาพ
ธีระ รุญเจริญ (๒๕๔๕ : ๗๑ – ๗๒) ได้เสนอลักษณะนักบริหารการศึกษามืออาชีพที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารและการจัดการศึกษาตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย
(๑) ลักษณะพื้นฐานธรรมชาติเดิมเป็นทุน
(๒) การศึกษา
(๓) บุคลิกภาพ
(๔) คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
(๕) ความสามารถ/ทักษะ
(๖) การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการบริหาร
โดยได้กล่าวถึงลักษณะของคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหาร ดังนี้
๑. มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลง
๒. ยึดระบบคุณธรรมเป็นที่ตั้ง คำนึงถึงความโปร่งใสและยุติธรรม
๓. ซื่อสัตย์ ไม่คอรัปชั่น
๔. อดทน อดกลั้น
๕. รับทั้งผิดและชอบ
๖. เสียสละ
๗. เป็นคนดีของสังคม

ไม่มีความคิดเห็น: