หอย...ดอง

หอย...ดอง
ฮืม........

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรม

แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรม
มีนักปราชญ์และนักวิชาการ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมไว้ดังนี้
โสเครติส กล่าวว่า คุณธรรมเป็นสิ่งที่ดีเด่น ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และเปลี่ยนแปลงได้บ้างเมื่อได้รับการศึกษา และถือว่า ความรู้คือคุณธรรม(Knowledge is virtue) หรือคุณธรรมนั้นสอนกันได้ โดยได้แบ่งลักษณะของคุณธรรมออกเป็น ๕ ประการ คือ
๑) ความรู้ (wisdom)
๒) การปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา (deity)
๓) ความกล้าหาญ (courage)
๔) การควบคุมตนเอง (self-control)
๕) ความยุติธรรม (justice)
ส่วนเพลโต (Plato) กล่าวว่า คุณธรรม (virtue) มีความหมายคล้ายกับจริยธรรม (ethics) โดยคุณธรรมเป็นความรู้ (knowledge) และคุณธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ แต่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ (learning process) หรือการมีประสบการณ์ (experiences) และคุณธรรมต้องเกิดจากความรู้ที่ไม่ใช่ทฤษฎี โดยเป็นความรู้จากการปฏิบัติ เพลโตได้แบ่งลักษณะสำคัญของคุณธรรมออกเป็น ๔ ประการ คือ
๑) ปัญญาหรือปรีชาญาณ (wisdom) หมายถึงการเล็งเห็นและหยั่งรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรประพฤติและไม่ควรประพฤติ
๒) ความกล้าหาญ (courage) กล้าเสี่ยงต่อความยากลำบาก ภัยอันตราย เพื่ออุดมการณ์ กล้าเสี่ยงต่อความถูกเข้าใจผิด กล้าเสี่ยงต่อการถูกใส่ร้ายและการเยาะเย้ย ด้วยความมั่นใจว่าตนกระทำดีแล้ว สามารถวางเฉยและวิเคราะห์พิจารณาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
๓) การรู้จักประมาณ หรือเดินสายกลาง (temperance) รู้จักควบคุมตนเองให้อยู่ในขอบเขตของจุดมุ่งหมายในชีวิต รู้จักบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ก้าวก่ายในสิทธิหน้าที่อันชอบธรรมของบุคคลอื่นในเวลาที่ไม่สมควร
๔) ความยุติธรรม (justice) การให้ความเสมอภาพ ความเท่าเทียมกันของบุคคล
สมพงษ์ เกษมสิน (๒๕๒๓ : ๒๓๔ – ๒๓๗) ได้เสนอว่า ในการที่จะปฏิบัติตนให้เป็นผู้นำหรือผู้บริหารที่ดีนั้น การปฏิบัติต่อตนเองนับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รองลงมานั้น ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่การงาน การปฏิบัติตนเอง ได้แก่ การวางตนให้เหมาะสม การสอนตนเองให้เป็นผู้นำที่ดี ซึ่งควรจะประกอบไปด้วยหลัก ๓ ประการ คือ
๑. ต้องมีจิตใจเป็นผู้นำ รู้จักเคารพในสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้มีวิริยะ อุตสาหะ พากเพียรในกิจการงาน เอาชนะน้ำใจผู้ร่วมงาน โดยการปลูกสร้างศรัทธา ความพอใจรักใคร่ทุ่มเทจิตใจและเวลาให้แก่งาน
๒. ประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่ผู้ร่วมงาน ทั้งในด้านความซื่อสัตย์และความยุติธรรม ทำตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่โดยถูกต้องกับกาลเทศะ
๓. ต้องสุภาพอ่อนโยน มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เข้าได้กับคนทุกชนชั้น
สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย (๒๕๒๕ : ๑ – ๔) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมไว้ว่า การศึกษาที่จะทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องเป็นการศึกษาที่ให้ทั้งความรู้ คุณธรรมและทักษะ หากปล่อยปละละเลยไม่ปลูกฝังคุณธรรม ให้แต่ความรู้และทักษะย่อมก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมได้ ซึ่งการสอนในสถานศึกษาทุกระดับก็มุ่งแต่ความรู้และทักษะ ยังขาดการเอาใจใส่และการกระทำอย่างจริงจังในด้านการปลูกฝังคุณธรรมหรือจริยธรรม และการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ด้วยจะต้องอาศัยเวลาและการกระทำจริงๆ จะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กและต่อเนื่องอยู่เสมอ ทุกสถาบันในสังคมต้องร่วมมือกันสร้างสรรค์คุณธรรมให้เกิดขึ้นในประชาชนชาวไทย เพื่อความก้าวหน้าและความสงบสุขของบ้านเมือง การที่คนขาดคุณธรรมย่อมก่อให้เกิดปัญหาและขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นมนปัจจุบันนี้ล้วนแต่เกิดจากคนขาดคุณธรรมและจริยธรรมทั้งสิ้น
บรรจง ชูสกุลชาติ (๒๕๓๒ : ๕) ได้เสนอแนวคิดในการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมไว้ว่า “คน” มิใช่เพียงสิ่งที่มีชีวิต แต่หากต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไป สิ่งนั้นคือ “คุณธรรม” เพราะเมื่อได้ชื่อว่า “มนุษย์” อันมีความหมายว่าผู้มีจิตใจสูง คำว่า “คุณธรรม” จึงหมายถึงสภาพความดีงามทั้งหลายที่ฝังลึกอยู่ภายใต้จิตสำนึกของบุคคลผู้เป็นมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า คุณธรรมเป็นสมบัติเฉพาะของมนุษย์
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (๒๕๓๒ : ๑ – ๒) กล่าวว่า ระบบคุณธรรมที่ใช้ในราชการ มีหลักสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. หลักความสามารถ หมายถึง การยึดถือความรู้เป็นหลักในการสรรหาบุคคล เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความสามารถเหมาะสมที่สุดตามหลัก Put the Right Man in the Right Job
๒. หลักความเสมอภาพ หมายถึง การเปิดโอกาสให้เท่าเทียมกัน ในการสมัครเข้าทำงานสำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน
๓. หลักความมั่นคง หมายถึง หลักประกันในการทำงานที่หน่วยงานยึดถือ มิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือให้ถูกออกจากงานโดยไม่มีความผิด ทั้งให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ อย่างมั่นคงในชีวิต
๔. หลักความเป็นกลางทางการเมือง ในระบบราชการมุ่งให้ข้าราชการประจำปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระปราศจากอิทธิพลทางการเมืองใดๆ เพื่อให้ข้าราชการสามารถปฏิบัติตามนโยบายของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง
สรุปจากแนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมจากนักวิชาการและนักปราชญ์ว่า ผู้นำหรือผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญของคุณธรรมเป็นอันดับแรก โดยต้องมีความรู้ ความกล้าหาญ ความสามารถ ในการบริหารอย่างเป็นธรรมให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

ไม่มีความคิดเห็น: